จรจัดสรร + ศูนย์พักพิงฯ = จรจัดสรรโมเดล
การทดลองออกแบบที่ 1 กล่าวถึงการออกแบบเพื่อยกระดับสวัสดิภาพหมาจรไม่อิสระและคน ในบริบทศูนย์พักพิงฯ หรือสถานสงเคราะห์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับศูนย์พักพิงโดยส่วนใหญ่ คือ ขาดสวัสดิภาพที่ดีและเหมาะสมต่อผู้ใช้อาคารทั้งหมาและคน งบประมาณมีจำกัดไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการสร้างและบริหาร และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างศูนย์พักพิงกับคนในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการทดลองออกแบบ “จรจัดสรรโมเดล” หรือแนวคิดต้นแบบสำหรับการออกแบบสร้างศูนย์พักพิงฯ อย่างเป็นระบบและครอบคลุมการแก้ปัญหาที่มักเกิดขึ้นในศูนย์พักพิงที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้หลักการสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและสถาปัตยกรรมสีเขียว บูรณาการร่วมกับเกษตรทฤษฎีใหม่ โดย “จรจัดสรรโมเดล” ประกอบด้วยต้นแบบ 2 ส่วน
1) Flow และ Function Diagram โมเดลองค์ประกอบหรือระบบสำคัญที่ศูนย์พักพิงจำเป็น ควรมี หรือเป็นส่วนเพิ่มเติม ซึ่งจัดสรรโดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างหมาและคน (บุคลากรในศูนย์พักพิง จิตอาสา ผู้เยี่ยมชม และกลุ่มผู้สนใจเลี้ยงหมา)
2) Design Diagram
จากภาพจรจัดสรรโมเดล : Flow and Function เมื่อหมาจรถูกพามาที่ศูนย์พักพิง จะต้องผ่านระบบคัดกรอง ตรวจสุขภาพ ถ้ากรณีที่หมาปกติ หรือมีอาการเจ็บป่วยไม่สาหัส จะได้รับการรักษา ทำหมัน ฉีดวัคซีน อาบน้ำ-ตัดขน (Grooming) ก่อนจะถูกกักตัวเพื่อสังเกตอาการเบื้องต้นประมาณ 7-14 วัน ดังนั้นองค์ประกอบแรกของศูนย์พักพิงที่จำเป็นต้องมี คือ คอกสำหรับสังเกตการณ์ เมื่อผ่านช่วงสังเกตการณ์แล้วจึงพาเข้าสู่คอกอาศัยต่อไป
สำหรับประเภทคอกอาศัยของหมาจรไม่อิสระ จะจำแนกตามขนาด ได้แก่ หมาขนาดเล็ก กลาง/ใหญ่ หรือลักษณะจำเพาะที่ควรได้รับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เช่น หมาเด็ก หมาแก่หรือพิการ หมาดุ ทั้งนี้ การแบ่งแยกคอกต่าง ๆ อาจขึ้นอยู่กับข้อจำกัดด้านพื้นที่ สถิติแนวโน้มของประเภทหมาที่มักถูกรับเข้า รวมถึงงบประมาณในการจัดสร้าง บริหาร และดูแล
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการดูแลหมาจรไม่อิสระในศูนย์พักพิง ไม่ควรถูกตั้งเป้าเพียงดูแลจนสิ้นอายุขัย ด้วยหมาที่ถูกรับเข้ามาบางส่วนอาจเป็นหมาหลงที่เจ้าของกำลังตามหา บ้างเป็นลูกหมาที่มีแนวโน้มที่จะสามารถหาผู้อุปการะได้ บางส่วนเป็นหมาที่มีศักยภาพที่สามารถฝึกฝนได้ หมาเหล่านี้สามารถเปลี่ยนสถานะกลับไปเป็นหมาเลี้ยง หรือได้รับการฝึกฝนปรับพฤติกรรมและสามารถขยับสถานะเป็นหมาที่ผู้คนเห็นคุณค่ามากขึ้น ดังเช่นแนวคิดหมาบำบัด หรือหมาที่มีความสามารถช่วยงานตรวจจับหาของ เป็นต้น การสร้างความเป็นไปได้ที่จะช่วยให้หมาจรไม่อิสระสามารถหาบ้านได้ ศูนย์พักพิงฯ อาจเพิ่ม Function พื้นที่ และจัดสรรบุคลากรสำหรับการฝึก ปรับพฤติกรรม พัฒนานโยบายสร้างสรรค์กิจกรรม แสดงความสามารถของหมา หรือเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาสัมผัสและสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกับหมาจรไม่อิสระ เช่น คาเฟ่หมาบำบัด เป็นต้น
สำหรับ “การยกสวัสดิภาพ” อันเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของการวิจัย ในทิศทางของการวางระบบ Flow และ Function กล่าวถึงการมีพื้นที่กิจกรรมนันทนาการสำหรับหมาเพื่อลดความเครียดและสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับหมา
ในขณะที่จรจัดสรรโมเดล : Design เสมือนเป็นเช็คลิสต์แนวทางการออกแบบจากการนำหลักการทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น สถาปัตยกรรมสีเขียว เกษตรทฤษฎีใหม่ บูรณาการเข้ากับแนวคิดการยศาสตร์และพฤติกรรมหมา เพื่อสร้างสภาวะน่าสบายหรือสุขภาวะที่ดีให้กับหมาและคนซึ่งเป็นผู้ใช้-อาศัยในอาคารภายใต้กลไกดุลยภาพของธาตุทั้ง 4