JonJudsun

วิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

             จากการศึกษาวิจัยนี้ ได้สรุปข้อค้นพบว่า ปัญหาหมาจรจัด ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง หรือปัญหาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของทุกคนในสังคม เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนรักหมา จิตอาสา หรือคนทั่วไป ดังนั้น ในงานวิจัยนี้จึงแบ่งกลุ่มคนในสังคมออกเป็น 3 กลุ่ม ตามแนวทางการจัดการกับปัญหาของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน คือ กลุ่มคนที่อยู่ในปัญหา กลุ่มคนที่เข้าใจในปัญหา และกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจในปัญหา เพื่อสร้างแนวทางในการจัดการกับปัญหาหมาจรจัดอย่างเป็นระบบ ด้วยการสื่อสารให้คนทุกกลุ่มเข้าใจและตระหนักรู้ถึงปัญหาหมาจรจัดร่วมกัน โดยแบ่งการแก้ปัญหาออกเป็น ระยะสั้น ที่แก้ปัญหาในเรื่องของสวัสดิภาพหมาจรจัด และ ระยะยาว ที่มุ่งเน้นเรื่องการกระตุ้นการตระหนักรู้ถึงปัญหาหมาจรจัดร่วมกัน  ซึ่งแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวมีความจำเป็นที่ต้องทำควบคู่กันไป เนื่องจากปัญหาหมาจรจัดมีความซับซ้อนในเชิงโครงสร้าง และมีมิติของปัญหาที่หลากหลาย ทำให้ต้องมีแผนการจัดการกับปัญหาอย่างเป็นระบบโดยมีรายละเอียดดังนี้

                   การศึกษาวิจัยพบว่า การแก้ปัญหาหมาจรจัดในสังคมไทยในปัจจุบันมีการจัดการปัญหาแบบแยกส่วน ขาดการบูรณาการ ขาดความเข้าใจที่ตรงกันถึงแนวทางในการจัดการกับปัญหาหมาจรจัด และขาดการสื่อสารเพื่อให้คนในสังคมเข้าใจถึงการแก้ปัญหา รวมถึงการตระหนักรู้ จึงสามารถแยกกลุ่มคนในสังคมออกได้อย่างชัดเจน คือ กลุ่มที่อยู่ในปัญหา กลุ่มคนที่สนใจในปัญหา และกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่ได้รับรู้ถึงปัญหา คนทั้ง 3 กลุ่มนี้ มีลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออกเกี่ยวกับการจัดการปัญหาหมาจรจัดแตกต่างกัน 

              ดังนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาหมาจรจัด สามารถทำได้ด้วย จรจัดสรร โมเดล ที่สร้างการบูรณาการในการจัดการกับปัญหาหมาจรจัดให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคนที่อยู่ในปัญหาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน สื่อสารไปยังกลุ่มคนที่สนใจในปัญหา และคนที่ไม่ได้สนใจในปัญหา เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาร่วมกัน ผ่านกิจกรรมที่ออกแบบเพื่อเพิ่มคุณค่าและศักดิ์ศรีให้กับหมาจรจัด สามารถสร้างมุมมองและทัศนคติของคนในสังคมมีต่อหมาจรจัดในทางที่ดีขึ้นได้ผ่านกลยุทธ์การสื่อสาร

ภาพ กลยุทธ์การสื่อสาร

การอภิปรายผล

                 การศึกษาวิจัยพบว่า การแก้ปัญหาหมาจรจัดในสังคมไทย จะสามารถทำได้ เมื่อทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหา ด้วยการประยุกต์ใช้ “จรจัดสรรโมเดล”  แบ่งเป็นแผนระยะสั้น และ ระยะยาว ดังนี้

                 • แผนระยะสั้น  เป็นรูปแบบของแนวทางการแก้ปัญหาหมาจรจัดที่ ที่ต้องจัดการในทันที ทั้งหมาจรอิสรและหมาจรไม่อิสระ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสวัสดิภาพของหมาจรจัด ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถรอได้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสังคมในหลายด้าน ไม่ใช่เพียงแค่สวัสดิภาพหมาจรจัดเท่านั้น ยังส่งผลกระทบไปสู่สวัสดิภาพของคนในสังคม จรจัดสรร คือการใช้ศิลปะการออกแบบเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อจัดการกับปัญหา ทั้งในรูปแบบ ของการออกแบบบริการ การออกแบบกิจกรรม การออกแบบเว็บไซต์ การถ่ายภาพ รวมถึงการออกแบบสถาปัตยกรรม เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของสวัสดิภาพและเพื่อลดผลกระทบในด้านต่างๆ

                 • แผนระยะยาว การแก้ปัญหาหมาจรจัดมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาในระยะยาวด้วยการกระตุ้นจิตสำนึกให้กับคนในสังคม จรจัดสรร จึงออกแบบกิจกรรมที่เหมาะ เด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไป เพื่อให้ตระหนักรู้และเข้าใจในปัญหาหมาจรจัด เสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อหมาจรจัด นำมาซึ่งการรับรู้ และความเข้าใจในปัญหาร่วมกัน ก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาร่วมกันของผู้คนในสังคม

ภาพ จรจัดสรรโมเดล (โดย ยศพร จันทองจีน)

จากผัง จรจัดสรรโมเดล ข้างต้น จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาหมาจรจัดมีความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างเป็นระบบ ควบคู่กันไป เพื่อให้ปัญหาถูกแก้ไขอย่างตรงจุด เนื่องจากปัญหาหมาจรจัดมีความซับซ้อนในเชิงโครงสร้าง และส่งผลกระทบต่อสังคมในด้านต่างๆ การแก้ปัญหาจึงต้องมีแผนงานการจัดการ ที่แบ่งไปตามข้อค้นพบของปัญหาที่พบในงานวิจัยนี้เพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของงานวิจัย

ข้อเสนอแนะ

                     จรจัดสรรโมเดล เป็นรูปแบบการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ ผ่านกระบวนการศึกษาวิจัย  การแก้ปัญหาหมาจรจัดในสังคมไทยสามารถทำได้ด้วยการนำ “จรจัดสรรโมเดล” ไปประยุกต์ใช้กับการจัดการปัญหาในรูปแบบอื่นๆได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น  2 แนวทาง คือ 1 การสร้างพื้นที่ให้เกิดในการบูรณาการในการทำงานร่วมกันของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหา และการใช้ศิลปะการออกแบบเป็นแนวทางในการยกระดับสวัสดิภาพหมาจรจัดให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น และ 2 คือ การ ออกแบบ “การสื่อสาร” เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนในสังคมเกิดความตระหนักรู้ในปัญหาหมาจรจัดร่วมกัน ผ่านรูปแบบของการจัดกิจกรรมด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการกระตุ้นจิตสำนึก และการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อหมาจรจัด ในกลุ่มเด็ก และเยาวชน นำมาซึ่งการรับรู้ และความเข้าใจในปัญหาร่วมกัน ก่อให้เกิดความ

ร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกันของผู้คนในสังคม ที่อาจเป็นเพียงแนวทางเดียวในการที่จะแก้ปัญหาหมาจรจัดได้ในที่สุด ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “จรจัดสรร” วัฒนธรรมการเลี้ยงหมาในสังคมสู่โครงการต้นแบบเพื่อสวัสดิภาพหมาจรจัดในมหานคร มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

  1. การจัดการปัญหาหมาจรจัด มีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ควบคุม และบังคับใช้กฎหมาย ซึ่ง จรจัดสรร เป็นเพียงแค่แนวทางในการลดหรือบรรเทาปัญหาหมาจรจัดและยกระดับสวัสดิภาพของหมาจรจัดให้ดีขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเมื่อสามารถสร้างการรับรู้ในวงกว้างได้ อาจทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเข้ามาจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง ด้วยการนำ จรจัดสรร โมเดล มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการจัดการปัญหาหมาจรจัดในอนาคต
  2. สำหรับผู้ที่สนใจในปัญหาสามารถนำ จรจัดสรร โมเดล ไปใช้งานตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้ ในเรื่องของการยกระดับสวัสดิภาพของหมาจรจัด ทั้งจรไม่อิสระ และจรอิสระ รวมถึงการสร้างกิจกรรมการกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้ถึงปัญหาหมาจรจัดร่วมกัน และเว็บไซต์ จรจัดสรร สามารถนำไปใช้ในการสื่อสารระหว่างคนในปัญหา และคนที่ไม่เข้าใจในปัญหาได้
  3. สำหรับการนำข้อมูลไปต่อยอดในการศึกษา หรือนำข้อมูลไปใช้ในทางวิชาการ โดยการพัฒนาในด้านรูปแบบ หรือการออกแบบ จรจัดสรร โมเดล ให้เหมาะสมกับการใช้งานและพฤติกรรมผู้ใช้ยิ่งขึ้น  รวมถึงสามารถพัฒนาการทดลองออกแบบ สำหรับ จรไม่อิสระ จรอิสระ และเว็บไซต์ เพื่อต่อยอดและพัฒนาตามความเหมาะสม

            จากข้อเสนอแนะข้างต้น ทำให้งานวิจัยนี้มีประโยชน์ต่อการจัดการกับปัญหาหมาจรจัด ทั้งในส่วนบุคคล ภาคเอกชน และภาครัฐ ซึ่งสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการปัญหาหมาจรจัดอย่างเป็นระบบต่อไปได้ในอนาคต หากมีการนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์อย่างเหมาะสม